วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

ภูเรือ (Phu Ruea)

ที่ตั้งและแผนที่
อุทยานแห่งชาติภูเรือ
ต.หนองบัว อ. ภูเรือ จ. เลย 42160
โทรศัพท์ : 0 4280 1716, 0 4280 7625 โทรสาร : 0 4280 1716
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายธำรง แผนสมบูรณ์

อุทยานแห่งชาติภูเรือ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอภูเรือและอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย อาณาเขตด้านทิศเหนืออยู่ติดกับประเทศลาว รูปพรรณสันฐานของภูเรือมีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือใหญ่บนยอดดอยสูงเป็นภูผาสีสันสะดุดตาหินบางก้อนมีลักษณะเหมือนถูกปั้นแต่งไว้ ชาวบ้านเรียกว่า “กว้านสมอ” โดยรอบๆ จะเห็นยอดดอยเป็นขุนเขาน้อยใหญ่ใกล้เคียงเป็นฝ้าขาวด้วยละอองน้ำ หมอก ปกคลุมไว้ท่ามกลางป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 120.84 ตารางกิโลเมตร

ในปี พ.ศ. 2519 อธิบดีกรมป่าไม้ เดินทางมาราชการที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง นายสุจินต์ เพชรดี ปลัดจังหวัดเลย ได้ให้ความเห็นว่า ควรส่งเสริมป่าภูเรือให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัด จากนั้นจังหวัดเลยจึงให้ทางอำเภอภูเรือสำรวจพื้นที่ป่าภูเรือ ซึ่งอำเภอภูเรือได้รายงานถึงจังหวัดเลยว่า พื้นที่ป่าภูเรือมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามสำคัญหลายแห่ง เช่น ป่าไม้ น้ำตก ทิวทัศน์ เหมาะที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้นของป่าภูเรือ ท้องที่อำเภอภูเรือและอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ปรากฏว่า ป่าแห่งนี้อยู่ในเขตป่าหมายเลข 23 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506 ให้รักษาไว้ให้เป็นป่าถาวรของชาติ

พื้นที่ป่าภูเรือประกอบด้วยทิวเขาสูง สลับซับซ้อนเรียงรายเป็นรูปต่างๆ น่าพิศวงสลับกับที่ราบเป็นบางส่วน สาเหตุที่ขนานนามว่า “ภูเรือ” เพราะมีภูเขาลูกหนึ่งมีชะโงกผายื่นออกมาดูคล้ายสำเภาใหญ่ และที่ราบบนยอดเขามีลักษณะคล้ายท้องเรือตลอดจนมีธรรมชาติและทิวทัศน์ที่สวยงาม เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2521 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าภูเรือ ในท้องที่ตำบลอาฮี ตำบลท่าลี่ อำเภอท่าลี่ และตำบลลาดค่าง ตำบลหนองบัว ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 124 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2522 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 16 ของประเทศ

ขนาดพื้นที่
75525.00 ไร่


หน่วยงานในพื้นที่

ภาพแผนที่


ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติภูเรือ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อนประกอบด้วย เขาหินทรายเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นเป็นหินแกรนิตสลับกันไป ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้มีที่ราบสูงสลับกับ ยอดเขาสูงทั่วไป มียอดเขาสูงที่สุดคือ ยอดภูเรือ มีความสูงถึง 1,365 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยังมียอดเขาที่สำคัญ คือ ยอดเขาภูสัน มีความสูง 1,035 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และยอดภูกุ มีความสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลักษณะเช่นนี้เองจึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญก่อให้เกิดลำธารหลายสาย เช่น ห้วยน้ำด่าน ห้วยบง ห้วยเถียงนา ห้วยทรายขาว ห้วยติ้ว และห้วยไผ่ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกห้วยไผ่ที่สวยงามแห่งหนึ่ง

ลักษณะภูมิอากาศ
ด้วยอุทยานแห่งชาติภูเรืออยู่ที่จังหวัดเลย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดของประเทศไทย และอยู่บนยอดเขาสูง จึงทำให้มีอากาศเย็นตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะหนาวเย็นมาก จนกระทั่งน้ำค้างบนยอดหญ้าจะแข็งตัวกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง ซึ่งมีภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “แม่คะนิ้ง” ผู้ที่จะไปพักผ่อนควรเตรียมตัวให้พร้อมที่จะผจญกับความหนาวเย็น

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
ภูเรือ มีสภาพป่าหลายชนิดปะปนกันอย่างสวยงาม ทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดงดิบ ป่าสนเขา โดยเฉพาะยอดภูเรือ ประกอบด้วยป่าสนเขา สลับกับสวนหินธรรมชาติแซมด้วยพุ่มไม้เตี้ย สลับด้วยทุ่งหญ้าเป็นระยะ ไม้พื้นล่างที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ กุหลาบป่า มอส เฟิน และกล้วยไม้ที่สวยงาม เช่น ม้าวิ่ง สามปอย ไอยเรศ เอื้องคำ เอื้องผึ้ง เอื้องเงิน ซึ่งขึ้นตามต้นไม้และโขดหิน กล้วยไม้เหล่านี้จะออกดอกบานสะพรั่งให้ชมสลับกันไปตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ป่าภูเรือยังมีสัตว์ป่าที่ชุกชุมพอสมควร ที่พบบ่อย เช่น หมี เก้ง กวางป่า หมูป่า หมาไน ลิง พญากระรอกดำ ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ป่า และชุกชุมไปด้วยกระต่ายป่า เต่าเดือย เต่าปูลูและนกชนิดต่างๆ ที่สวยงามอีกมากมาย โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะอพยพมาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก

การเดินทาง
รถยนต์
อุทยานแห่งชาติภูเรือ อยู่ห่างจากจังหวัดเลย ประมาณ 48 กิโลเมตร โดยเดินทางไปโดยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 203 ถึงอำเภอภูเรือ จะมีป้ายอุทยานแห่งชาติอยู่ปากทางเข้าซึ่งอยู่ข้างที่ว่าการอำเภอภูเรือ (มาจากจังหวัดเลย ป้ายจะอยู่ทางด้านขวามือ มาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ป้ายจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ) จากปากทางเข้าเดินทางต่อไปอีก ประมาณ 4 กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ถนนภายในอุทยานแห่งชาติเป็นถนนลาดยาง เป็นถนนบนภูเขา บางช่วงมีความลาดชัน นักท่องท่องเที่ยวควรขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ใช้เกียร์ต่ำ มิฉะนั้นจะทำให้เบรคไหม้ได้

เครื่องบิน การเดินทางโดยเครื่องบิน 1)เส้นทางกรุงเทพฯ-อุดรฯ และนั่งรถประจำทางสายอุดรฯ-เมืองเลย 2)เส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น นั่งรถประจำทางสายขอนแก่น-เมืองเลย เมื่อมาถึงจังหวัดเลยสามารถนั่งรถประจำทางประมาณ 50 กิโลเมตร ถึงอำเภอภูเรือ 3)กรุงเทพฯ-เพชรบูรณ์

รถโดยสารประจำทาง เดินทางจากกรุงเทพฯ มี 2 เส้นทาง คือ 1.รถสายกรุงเทพฯ-ภูเรือ 2.รถสายกรุงเทพฯ-เมืองเลย และนั่งรถประจำทาง ดังนี้ 1)สายเมืองเลย-ภูเรือ 2)นครพนม-เชียงราย 3)อุดรฯ-พิษณุโลก 4)อุดรฯ-เชียงใหม่


ท่องเที่ยวด้วยรถคันโต


พระอาทิตย์ตกที่ภูเรือ


พระอาทิตย์ขึ้นที่ผาโหล่นน้อย


ทะเลหมอกที่ยอดภูเรือ


ผาโหล่นน้อย


ยอดภูเรือ



อ้างอิง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น