วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดพระแก้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2325 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2327
          เป็นวัดที่สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง ตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ สมัยอยุธยา วัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ทางทิศตะวันออก มีพระระเบียงล้อมรอบเป็นบริเวณ เป็นวัดคู่กรุงที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง และประชุมข้าทูลละอองพระบาทถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
          รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย มาประดิษฐาน ณ ที่นี้ วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้ ภายหลังจากการสถาปนาแล้ว ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชกาล เพราะเป็นวัดสำคัญ จึงมีการปฏิสังขรณ์ใหญ่ทุก 50 ปี คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน
          เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 ที่ผ่านมา การบูรณปฏิสังขรณ์ที่ผ่านมามุ่งอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอันเป็นมรดกชิ้นเอกของชาติ ให้คงความงามและรักษาคุณค่าของช่างศิลป์ไทยไว้อย่างดีที่สุด เพื่อให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้อยู่คู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดไป

ตำนานพระแก้วมรกต
          สันนิษฐานว่าพระแก้วมรกตนั้นสร้างขึ้นในสมัยเชียงแสน ทำจากหยกสีเขียวเข้ม จำหลักเป็นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 43 ซม. สูง 55 ซม. พบครั้งแรกในเจดีย์วัดป่าญะ จ.เชียงราย ปีพ.ศ. 1977 เป็นพระปูนลงรักปิดทอง ต่อมาปูนกะเทาะจนเห็นองค์จริง พระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงจัดขบวนช้างมาอัญเชิญ แต่ขบวนช้างไม่ยอมเข้าเมืองเชียงใหม่ เลยนำไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง
          พ.ศ. 2011 พระเจ้าติโลกราชทรงอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ แต่ต่อมา พ.ศ.2094 พระเจ้าไชยเชษฐา เจ้าเมืองเชียงใหม่ เสด็จไประงับเหตุพิพาทที่หลวงพระบาง จึงอัญเชิญเสด็จไปด้วย เมื่อหลวงพระบางถูกรุกรานจากพม่าในปี พ.ศ. 2107 พระเจ้าไชยเชษฐาได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เวียงจันทน์ พร้อมกับอัญเชิญพระแก้วมรกตไป
          จน พ.ศ. 2321 เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเวียงจันทน์ ได้อัญเชิญลงมาประดิษฐานยังโรงพระแก้ว ณ พระราชวังเดิม ในกรุงธนบุรี ครั้นเสด็จไปปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ได้อัญเชิญมาประดิษฐานยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชทานนามว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพร้อมกับสร้างเครื่องทรงฤดูร้อนและฤดูฝนถวาย ส่วนเครื่องทรงฤดูหนาวมาสร้างถวายในรัชกาลที่ 3 และใช้เรื่อยมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมธนารักษ์จัดสร้างเครื่องทรงขึ้นใหม่ทั้งหมด ส่วนของเดิมให้นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ไหว้พระแก้วด้วยปลาร้า ข้าวเหนียว
          นอกจากจะเชื่อกันว่าพระแก้วมรกตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์คุ้มครองบ้านเมืองมาโดยตลอดแล้ว คนทั่วไปยังเชื่อว่าท่านสามารถช่วยดลบันดาลให้สมประสงค์ตามที่บนบานได้ด้วย ทุกวันนี้จะเห็นชาวบ้านนำภัตตาหารมาถวายแก้บนกันเป็นประจำ สิ่งที่นิยมนำมาถวายคือ ปลาร้า ข้าวเหนียว ไข่ต้ม ไก่ย่าง เนื่องจากเชื่อกันว่าพระแก้วมรกตเคยประทับอยู่ในเมืองลาวมานาน ฉะนั้นท่านน่าจะโปรดอาหารลาว ความนิยมในการถวายปลาร้าข้าวเหนียวนี้ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มเกิดตั้งแต่เมื่อใด แต่น่าจะเกิดขึ้นมาในระยะหลังนี่เอง เพราะจากเอกสารเก่าฉบับหนึ่ง สมัยรัชกาลที่ 5 (มร.5 รล./14) กล่าวถึงอาหารแก้บนของหญิงผู้หนึ่ง ซึ่งได้บนบานขอให้รัลกาลที่ 5 เสด็จประพาสชวาโดยปลอดภัย โดยได้ถวายเพียงหัวหมูและละครเท่านั้น ไม่มีข้าวเหนียว ปลาร้าเหมือนทุกวันนี้





อ้างอิง http://www.bkkinside.com/place-watprakaew

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น