วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

ตลาดน้ำอัมพวา

ตลาดน้ำอัมพวา      ตั้งอยุ่ที่  ตำบลอัมพวา  อำเภออัมพวา  จังหวัดสมุทรสงคราม
  ในอดีตเมืองอัมพวาถือว่าเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของจังหวัดสมุทรสงคราม มีตลาดน้ำขนาดใหญ่และชุมชนริมน้ำที่เป็นศูนย์กลางด้านพาณิชยกรรม แต่ผลกระทบของการพัฒนาการคมนาคมทางบก ทำให้ความเป็นศูนย์กลางฯ ของอัมพวาต้องสูญเสียไป ตลาดน้ำค่อยๆลดความสำคัญและสูญหายไปในที่สุด ทิ้งไว้แต่ร่องรอยของความเจริญในอดีตซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นชัดเจนในทุกวันนี้
         ทางเทศบาลตำบลอัมพวา โดยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในท้องถิ่น ได้ฟื้นฟูตลาดน้ำอัมพวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่ออนุรักษ์ความเป็นอยู่ของชุมชนริมน้ำ ซึ่งในปัจจุบันจะหาดูได้ยาก ให้สืบทอดตลอดไป โดยใช้ชื่อว่า "ตลาดน้ำยามเย็น"
สิ่งที่น่าสนใจ

ตลาดน้ำยามเย็น
   จะมีทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 15.00 -22.00 น.วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น.
         ตลาดน้ำโดยทั่วไปมักจะจัดขึ้นในเวลากลางวัน แต่ตลาดน้ำยามเย็น ที่อัมพวาแห่งนี้ จะจัดขึ้นในช่วงเวลาเย็นเรื่อยไปจนถึงเวลาพลบค่ำ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นตลาดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย ที่จัดในลักษณะเช่นนี้ ในตอนเย็นชาวบ้านจะเริ่มทยอยพายเรือนำสินค้าหลากหลายนานาชนิด อาทิ อาหาร ผลไม้ พืชผัก ขนม ของกินของใช้ มาขายให้กับนักท่องเที่ยว หรือคนในท้องถิ่นที่สัญจรไปมาที่ตลาดอัมพวา ทำให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติของชีวิตของชุมชนริมน้ำ ซึ่งเป็นที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวสามารถที่จะหาซื้ออาหารมานั่งรับประทาน บริเวณริมคลองอัมพวาติดกับตลาดน้ำ ซึ่งได้มีการจัดสถานที่ไว้ ทำให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ล่องเรือชมหิ่งห้อย
         นักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์จะนั่งเรือชมหิ่งห้อย ประกายความงามยามค่ำคืน หรือล่องเรือท่องเที่ยวตามลำน้ำแม่กลอง ก็สามารถติดต่อเรือได้ ติดต่อ โทร.089-4154523
การเดินทาง
ทางรถยนต์
จากตัวจังหวัดใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 325 ทางเดียวกับไปอำเภอดำเนินสะดวกและอุทยาน ร.2 ประมาณ 6 กม ก่อนถึงสามแยกไฟแดง มีทางแยกทางซ้ายเข้า อ.อัมพวา ไปอีกประมาณ 800 เมตร. ทางแยกซ้ายมือ เข้าตลาดอัมพวา จอดรถบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภออัมพวา
รถประจำทาง
จากสถานีขนส่งสายใต้
        รถสาย 996 กรุงเทพฯ-ดำเนินฯ เป็นรถปรับอากาศ ผ่านจังหวัดสมุทรสงครามถึงตลาดอัมพวา
         สาย 976 กทม.-สมุทรสงคราม ถึงสถานีขนส่งสมุทรสงคราม ขึ้นรถประจำทางสาย 333 แม่กลอง-อัมพวา-บางนกแขวก ถึงตลาดอัมพวา





อ้างอิง http://www.maeklongtoday.com/tour/floatingmarket.php

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

Palio Khaoyai (ปาลิโอ เขาใหญ่)

Palio เป็นชื่อ เทศกาลแข่งม้าที่โด่งดัง ที่จัดขึ้นใจกลางเมือง "เซียน่า" ของประเทศอิตาลี มีความหมายคือรางวัล จึงเป็นที่มา ของการนำคำว่า Palio มาเป็นชื่อของสถานที่แห่งนี้ ซึ่งทางกลุ่มเจ้าของโครงการต้องการให้เป็นรางวัลกับชุมชนเขาใหญ่ เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในเขาใหญ่
โครงการ Palio ประกอบด้วยร้านค้าเล็กๆ น่ารักแบบถนนคนเดินสไตล์อิตาเลียน นอกจากโครงสร้างที่โดดเด่น สวยงามเป็นเอกลักษณ์แล้ว ภายในโครงการยังได้นักจัดสวนระดับแถวหน้าสุดของประเทศไทย คือ คุณอำนาจ คีตพรรณนา ซึ่งมีผลงานทางสถาปัตยกรรม และตกแต่งภายในมากมาย เช่น บ้านพักท่านทูตประจำ W.T.O ที่เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ พระตำหนักสวนสุโขทัย บ้านสวนปาริจฉัตก์ เป็นต้น มาเนรมิตสวนสวยรายล้อมตัวอาคารร้านค้าให้โครงการสวยงามขึ้น
ลักษณะโครงการ งานสถาปัตยกรรมเป็นกลุ่มอาคาร 1 และ 2 ชั้น ตั้งอยู่บนถนนธนะรัชต์ กม.ที่17 ติดกับโรงแรมจุลดิศ เขาใหญ่ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภายในมีร้านค้าหลากหลายประเภทกิจการ เช่น ธนาคาร,ร้านอาหารสไตล์ Fusion Italian, ร้านกาแฟที่คัดสรรแล้ว, สินค้าตกแต่งบ้าน, ร้านไวน์, ร้ายพืชผักปลอดสารพิษ, ร้านเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย, ร้านขายของที่ระลึก, ศูนย์อาหารที่คัดสรรแล้วว่าอร่อยจริง และทุกอย่างที่นักท่องเที่ยวต้องการ บนเนื้อที่ 7 ไร่
นอกจากร้านร้านค้าต่างๆแล้ว ยังมีโซนที่จะถูกสร้างให้เป็นห้องพักแบบบูทิค โฮเทล บริการในรูปแบบ Bed & Breakfast  และมีลานจอดรถที่สามารถรองรับรถได้กว่า สามร้อยคัน

เรามาชมภาพความประทับใจของ ปาลิโอกันดีกว่าค่ะ









อ้างอิง http://www.palio-khaoyai.com/?page=gallery

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย

  อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย อำเภอมวกเหล็ก จ.สระบุรี ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอมวกเหล็ก และอำเภอวังม่วง มีลำห้วยมวกเหล็กไหลผ่าน จุดเด่นซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวคือ น้ำตกเจ็ดสาวน้อย เป็นน้ำตกที่ไหลลดหลั่นมาตามแนวลำธาร มีประมาณ 7 ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงราว 2-5 เมตร แอ่งน้ำมีบริเวณที่เล่นน้ำกว้าง และร่มรื่น นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมล่องแก่งเรือคยัคในห้วยมวกเหล็ก ติดต่อได้ที่ที่ทำการอุทยานฯ
   กิจกรรม
-เล่นน้ำตก
-พายเรือคยัก
-พักผ่อนหย่อนใจ
-ล่องแก่ง
-เดินป่าศึกษาธรรมชาติ
    บริเวณอุทยาน มีบ้านพัก ที่กางเต้นท์ ห้องอาบน้ำ มีร้านอาหารบริการ ห่วงยางให้เช่าเล่นน้ำ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อล่องแก่งเรือยาง เรือคยัก และรถ ATV ได้ด้วย ติดต่อสอบถามข้อมูล โทร. 0 3622 6431 ติดต่อจองบ้านพักอุทยานแห่งชาติที่ โทร. 0 2562 0760 เว็บไซต์ www.dnp.go.th
    การเดินทาง
-จากตัวเมืองสระบุรี ไปอำเภอมวกเหล็ก ถึงทางแยกถนนสายมวกเหล็ก-หนองย่างเสือ ระยะทาง 41 กิโลเมตร จากทางแยกเข้าสู่อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อยเป็นระยะทางอีก 12 กิโลเมตร หรือเดินทางโดยรถโดยสาร มีรถสายสระบุรี-แก่งคอย-มวกเหล็ก ผ่านหน้าอุทยานฯ
-จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-สระบุรี (ทางหลวงหมายเลข 1 หรือ ถ.พหลโยธิน) เมื่อถึงตัวเมืองสระบุรีให้เลี้ยวขวาใช้เส้นทาง สระบุรี-นครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 2 หรือ ถ.มิตรภาพ) กม.ที่ 142 ก่อนถึงตลาด อ.ส.ค. ให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2224 (มวกเหล็ก-หนองย่างเสือ) ประมาณ 12 กม. ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย
-บนเส้นทางมวกเหล็ก-วังม่วง เส้นทางสาย 2089 มีอุโมงค์ต้นไม้ เกิดจากต้นกระถินใหญ่สองข้างถนนโน้มกิ่งเข้าหากัน ทำให้ถนนร่มครึ้มเป็นระยะทางยาวดูคล้ายอุโมงค์ ถัดไปเล็กน้อยยังมีเนินพิศวง ซึ่งหากจอดรถเข้าเกียร์ว่าง จะเกิดภาพลวงตามองเห็นรถเคลื่อนที่จากที่ต่ำไปยังที่สูง นอกจากนี้ตามเส้นทางสายมวกเหล็ก-หนองย่างเสือ (ทางหลวงหมายเลข 2224) จะมีลำธารไหลเลียบถนนไปตลอดเส้นทางและมีรีสอร์ทของเอกชนหลายแห่งตั้งเรียงรายอยู่ริมธารน้ำตก






อ้างอิง http://touronthai.com/gallery/placeview.php?place_id=36000009

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยโบราณสถานสมัยอาณาจักรขอมที่ใหญ่โตและงดงาม
ประวัติ  เมืองพิมายเป็นเมืองที่สร้างตามแบบแผนของศิลปะขอม มีลักษณะเป็นเวียงสี่เหลี่ยม ชื่อ พิมาย น่าจะมาจากคำว่า วิมาย หรือ วิมายปุระ ที่ปรากฏในจารึกภาษาขอมบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาท จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะสร้างบ่งบอกว่า ปราสาทหินพิมายคงเริ่มสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในฐานะเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ รูปแบบของศิลปะเป็นแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัด ซึ่งหมายถึงปราสาทนี้ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานที่ทางศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมขอมเริ่มเสื่อมลงหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองพิมายคงจะหมดความสำคัญลง และหายไปในที่สุด เนื่องไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยสุโขทัย ในปี พ.ศ. 2479 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมายเป็นโบราณสถาน และได้จัดตั้งเป็น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2532 โดยได้ดำเนินการปรับปรุงจัดตั้งถึง 13 ปี ร่วมมือกันระหว่างกรมศิลปากร และประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519-2532 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ พระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยาน
โบราณสถาน
ตัวอุทยานตั้งอยู่ฟากทิศตะวันออกของแม่น้ำมูล บนพื้นที่ 115 ไร่ วางแผนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตร ลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่นๆที่มักหันไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงในสมัยนั้นของขอม ซึ่งเข้ามาสู้เมืองพิมายทางทิศใต้
สิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจภายในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

พลับพลา
ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ากำแพงชั้นนอก ด้านซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมเรียกกันว่า "คลังเงิน" จากตำแหน่งที่ตั้งสันนิษฐานว่าคงเป็นที่พักเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูงที่เสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่พักจัดขบวนสิ่งของถวายต่างๆ จากการขุดแต่งบริเวณนี้เมื่อปี พ.ศ. 2511 ได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก มีทั้งรูปเคารพ เครื่องประดับ และเหรียญสำริด เป็นเหตุให้เรียกกันว่า "คลังเงิน"

สะพานนาคราช ปราสาทหินพิมายตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าโคปุระด้านทิศใต้สร้างด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาท กว้าง 4 ม. ยาว 31.70 ม. ยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นตัวนาค ที่ปลายราวสะพานทำเป็นรูปนาคราชชูคอแผ่พังพานเป็นรูปนาค 7 เศียร สะพานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางเข้าสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล เชื่อว่าเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ คตินีถือสืบกันมาในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนานิกายมหายาน ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว
ซุ้มประตูซุ้มประตูหรือโคปุระ ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้ว อยุ่ในแนวตรงกันหมดทั้ง 4 ด้าน คือ ทิศเหนือ-ใต้ อยู่ตรงกึ่งกลางของกำแพง ทิศตะวันออก-ตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย ผังโดยรอบของซุ้มประตูมีลักษณะเป็นรูปกากบาท จากกำแพงแก้วเข้ามาด้านในเชื่อกันว่าเป็นดินแดนของโลกสวรรค์ อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า
 ชาลาทางเดิน
ชาลาทางเดินก่อสร้างด้วยหินทราย เชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตูด้านทิศใต้ของระเบียงคดที่ล้อมรอบปราสาทประธาน โดยทำทางเดินยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่องทางเดิน ผังทำเป็นรูปกากบาท จากการบูรณะพบเศษกระเบื้องมุงหลังคาและบราลีดินเผาจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นระเบียงโปร่ง หลังคามุงกระเบื้อง รองรับด้วยเสาไม้
ซุ้มประตูและระเบียงคดเป็นอาคารก่อด้วยหินทรายยกพื้นสูง อยู่ล้อมรอบปราสาทประธาน ระเบียงคดมีลักษณะคล้ายกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งตรงกับแนวของประตูเมือง และประตูทางเข้าปราสาทประธาน ปรากฏหลักฐานสำคัญที่ซุ้มประตูด้านทิศใต้ บริเวณกรอบประตูพบจารึกภาษาเขมร อักษรขอมโบราณ ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. 1651-1655 กล่าวถึงการสร้างรูปเคารพ การสร้างเมือง ตลอดจนปรากฏพระนามของขุนนางชั้นสูง และพระนางมหากษัตริย์คือ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่1
ปราสาทประธานเป็นส่วนสำคัญที่สุดของปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทองค์ใหญ่ สร้างขึ้นราวพุทธศรรตวรรษที่ 16-17 ก่อสร้างด้วยศิลาทรายสีขาวหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งแตกต่างจากศาสนสถานแบบขอมในที่อื่นๆ ซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทประธานประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ มณฑป และ เรือนธาตุ มีการจำหลักลวดลายประดับตามส่วนต่างๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง มักจำหลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ยกเว้นทางด้านทิศใต้ จำหลักเป็นภาพศิวนาฏราช ภายในเรือนธาตุเป็นส่วนสำคัญที่สุดเรียกว่า ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญ พื้นห้องตรงมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีร่องน้ำมนต์ต่อลอดผ่านพื้นห้องออกไปทางด้านนอก เรียกว่า ท่อโสมสูตร
ปรางค์หินแดงสร้างขึ้นราวปลายพุทธศรรตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของปรางค์ประธาน มีมุขยื่นออกไปทั้ง 4 ทิศ เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ มีทับหลังหินทรายจำหลักภาพเล่าเรื่องมหากาพย์มหาภารตะ ตอนกรรณะล่าหมูป่า ส่วนกรอบประตูด้านอื่นคงเหลือร่องรอยเฉพาะเสาประดับกรอบประตูศิลปะแบบเขมรประดับอยู่
หอพราหมณ์เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับบปรางค์หินแดง ในปี พ.ศ. 2493 ได้ค้นพบศิวลึงค์ สลักด้วยหินทรายจำนวน 7 ชิ้นอยู่ภายในหอพราหมณ์ เชื่อกันว่าอาคารหลังนี้คงเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ แต่จากรูปแบบและตำแหน่งที่ตั้งเดิมคงเป็นที่ตั้งของบรรณาลัยมากกว่า
ปรางค์พรหมทัตลักษณะของปรางค์องค์นี้ สร้างด้วยศิลาแลงตั้งอยู่ด้านหน้าของปราสาทประธานทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ประตูทำเป็นมุขยื่นออกไปทั้ง 4 ทิศ ภายในองค์ปรางค์พบประติมากรรมสำคัญ 2 ชิ้น คือ ประติมากรรมรูปบุคคลขนาดใหญ่อยู่ในท่านั่งขัดสมาธิ สลักด้วยหินทราย สันนิษฐานว่าเป็นรูปจำลองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชาวบ้านเรียกว่า ท้าวพรหมทัต ส่วนอีกรูปเป็นรูปสตรีนั่งคุกเข่าสลักด้วยหินทราย ส่วนศีรษะและแขนหักหายไป เชื่อกันว่าเป็นรูปของพระนางชัยราขเทวีมเหสี ชาวบ้านเรียกตามนิยายพื้นบ้านว่า นางอรพิม ปัจจุบันประติมากรรมทั้ง 2 ชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย
บรรณาลัยตั้งอยู่บริเวณลานชั้นนอก ระหว่างกำแพงแก้วและซุ้มประตูระเบียงคด ด้านทิศตะวันตกเป็นอาคาร 2 หลังขนาดเดียวกัน ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง ก่อด้วยหินทรายกั้นเป็นห้องยาวตลอดแนว พบร่องรอยหลุมเสารูปสี่เหลี่ยมจตุรัส เดิมคงเป็นหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เชื่อกันว่าบรรณาลัยคือสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา
รายละเอียดทั่วไป
-เปิดเวลา 07.30-18.00 น.
-ค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท
-โทร. 0-4447-1568

สะพานนาคราช

ผังอุทยาน

ปรางค์ประธาน

ชาลาทางเดิน



วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดพระแก้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2325 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2327
          เป็นวัดที่สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง ตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ สมัยอยุธยา วัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ทางทิศตะวันออก มีพระระเบียงล้อมรอบเป็นบริเวณ เป็นวัดคู่กรุงที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง และประชุมข้าทูลละอองพระบาทถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
          รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย มาประดิษฐาน ณ ที่นี้ วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้ ภายหลังจากการสถาปนาแล้ว ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชกาล เพราะเป็นวัดสำคัญ จึงมีการปฏิสังขรณ์ใหญ่ทุก 50 ปี คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน
          เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 ที่ผ่านมา การบูรณปฏิสังขรณ์ที่ผ่านมามุ่งอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอันเป็นมรดกชิ้นเอกของชาติ ให้คงความงามและรักษาคุณค่าของช่างศิลป์ไทยไว้อย่างดีที่สุด เพื่อให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้อยู่คู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดไป

ตำนานพระแก้วมรกต
          สันนิษฐานว่าพระแก้วมรกตนั้นสร้างขึ้นในสมัยเชียงแสน ทำจากหยกสีเขียวเข้ม จำหลักเป็นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 43 ซม. สูง 55 ซม. พบครั้งแรกในเจดีย์วัดป่าญะ จ.เชียงราย ปีพ.ศ. 1977 เป็นพระปูนลงรักปิดทอง ต่อมาปูนกะเทาะจนเห็นองค์จริง พระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงจัดขบวนช้างมาอัญเชิญ แต่ขบวนช้างไม่ยอมเข้าเมืองเชียงใหม่ เลยนำไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง
          พ.ศ. 2011 พระเจ้าติโลกราชทรงอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ แต่ต่อมา พ.ศ.2094 พระเจ้าไชยเชษฐา เจ้าเมืองเชียงใหม่ เสด็จไประงับเหตุพิพาทที่หลวงพระบาง จึงอัญเชิญเสด็จไปด้วย เมื่อหลวงพระบางถูกรุกรานจากพม่าในปี พ.ศ. 2107 พระเจ้าไชยเชษฐาได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เวียงจันทน์ พร้อมกับอัญเชิญพระแก้วมรกตไป
          จน พ.ศ. 2321 เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเวียงจันทน์ ได้อัญเชิญลงมาประดิษฐานยังโรงพระแก้ว ณ พระราชวังเดิม ในกรุงธนบุรี ครั้นเสด็จไปปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ได้อัญเชิญมาประดิษฐานยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชทานนามว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพร้อมกับสร้างเครื่องทรงฤดูร้อนและฤดูฝนถวาย ส่วนเครื่องทรงฤดูหนาวมาสร้างถวายในรัชกาลที่ 3 และใช้เรื่อยมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมธนารักษ์จัดสร้างเครื่องทรงขึ้นใหม่ทั้งหมด ส่วนของเดิมให้นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ไหว้พระแก้วด้วยปลาร้า ข้าวเหนียว
          นอกจากจะเชื่อกันว่าพระแก้วมรกตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์คุ้มครองบ้านเมืองมาโดยตลอดแล้ว คนทั่วไปยังเชื่อว่าท่านสามารถช่วยดลบันดาลให้สมประสงค์ตามที่บนบานได้ด้วย ทุกวันนี้จะเห็นชาวบ้านนำภัตตาหารมาถวายแก้บนกันเป็นประจำ สิ่งที่นิยมนำมาถวายคือ ปลาร้า ข้าวเหนียว ไข่ต้ม ไก่ย่าง เนื่องจากเชื่อกันว่าพระแก้วมรกตเคยประทับอยู่ในเมืองลาวมานาน ฉะนั้นท่านน่าจะโปรดอาหารลาว ความนิยมในการถวายปลาร้าข้าวเหนียวนี้ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มเกิดตั้งแต่เมื่อใด แต่น่าจะเกิดขึ้นมาในระยะหลังนี่เอง เพราะจากเอกสารเก่าฉบับหนึ่ง สมัยรัชกาลที่ 5 (มร.5 รล./14) กล่าวถึงอาหารแก้บนของหญิงผู้หนึ่ง ซึ่งได้บนบานขอให้รัลกาลที่ 5 เสด็จประพาสชวาโดยปลอดภัย โดยได้ถวายเพียงหัวหมูและละครเท่านั้น ไม่มีข้าวเหนียว ปลาร้าเหมือนทุกวันนี้





อ้างอิง http://www.bkkinside.com/place-watprakaew

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

น้ำตกตาดโตน

น้ำตกตาดโตน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดชัยภูมิ ห่างจากตัวจังหวัดชัยภูมิไปทางทิศเหนือ 21 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่สวยงาม ที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติตาดโตน ใกล้ที่ทำการอุทยานฯ มีน้ำไหลตลอดปี โดย เฉพาะในฤดูฝนจะสวยงามเป็นพิเศษ ด้านบนเป็นธารน้ำไหลผ่านลานหินสองฝั่งธารร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ เหมาะที่ จะนั่งพักผ่อนชมธรรมชาติและเล่นน้ำ ด้านบนน้ำตกมีสภาพเป็นลานหินกว้างประมาณ 50 เมตร และยาวไปตาม ลำน้ำ ประมาณ 300 เมตร ทำให้น้ำไหลลาดมาตามลานหิน มีแอ่งน้ำที่สามารถเล่นน้ำได้เป็นจุดๆ และไหลลงมาตก ที่หน้าผาเป็นน้ำตกตาดโตนที่มีความสูงประมาณ 6 เมตร และกว้าง 50 เมตร ในฤดูฝน ( ประมาณเดือนมิถุนายน - กันยายน ) บริเวณน้ำตกตาดโตนมี ศาลเจ้าพ่อตาดโตน (ศาลปู่ด้วง) มีประวัติว่า เจ้าพ่อตาดโตนเป็นคนเชื้อสายเขมรอพยพ
เข้าเมืองไทย ในเวลาใกล้เคียงกับพ่อพระยาแล (พระยาภักดีชุมพล) ท่านบำเพ็ญตนเป็นชีปะขาวยึดมั่นในสมถะ กรรมฐาน ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และช่วยรักษาคนไข้ เป็นที่นับถือเลื่อมใสของราษฎรมาก เมื่อถึงแก่กรรมจึง มีีการสร้างศาลขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพสักการะไว้หลายแห่ง นอกจากที่น้ำตกตาดโตนแล้วยังมีศาลปู่ด้วงที่ช่อง สาม หมอกและที่วัดชัยภูมิพิทักษ์อีกด้วย มักมีประเพณีรำผีฟ้า ผีทรงบวงสรวงเจ้าพ่อเป็นประจำ มีทางลาดยางตลอด ถึงน้ำตก
ฤดูกาลท่องเที่ยว
- ฤดูฝน ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน น้ำตกตาดโตน จะมีน้ำไหลเต็มที่และสวยงาม
ค่าธรรมเนียมเข้าชม
- คนละ 20 บาท
- รถยนต์ 30 บาท
ที่พักอุทยานแห่งชาติตาดโตน
มีบ้านพักและสถานที่กางเต้นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยวในบริเวณน้ำตกจะมีร้านคาราโอเกะและอาหาร ให้คนที่อยาก เปลี่ยนบรรยากาศ คนส่วนมากจะมาที่นี่กันในหน้าแล้งของทุกปีเพื่อคลายร้อนกัน จึงไม่แปลกที่จะเห็นทั้งเด็กและ ผู้ใหญ่แม้กระทั่งวัยไม้ไกล้ผั่ง เพราะบรรยากาศร่มรื่นความ เย็นสบาย แถมมีร้านขายของคอยบริการ สถานที่ติดต่อ อุทยานแห่งชาติตาดโตน ตู้ ปณ. อ.เมือง จ.ชัยภูมิ 36000 โทรศัพท์ : (0) 1926 4870
การเดินทางไปน้ำตกตาดโตน
1. โดยรถยนต์ส่วนตัว
จากตัวเมืองทางหลวงหมายเลข 2159 และแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2051 ระยะทางจากตัวเมืองถึงที่ทำ การอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร หรืออาจใช้เส้นทางหมายเลข 201 ทางไปอำเภอภูเขียว จะมีเส้น ทางแยกซ้ายอีก 21กิโลเมตรไปน้ำตกตาดโตนได้เช่นกัน
2. โดยรถโดยสารประจำทาง
สำหรับผู้ที่เดินทางโดยรถโดยสาร สามารถใช้บริการรถสองแถวสายชัยภูมิ-ท่าหินโงม ลงที่ด่านเก็บค่าธรรมเนียม แล้วเดินเท้า อีก 1 กิโลเมตรถึงที่ตั้งอุทยานเดินเข้าน้ำตกcตาดโตนประมาณ 500 เมตร ตามถนนราดยาง หรือเดิน ลัดเลาะตามโขด





อ้างอิง  http://www.paiduaykan.com/76_province/Northeast/chaiyaphum/tadton.html

พระธาตุพนม

พระธาตุพนม ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรวิหาร ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตำบล และอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม สถานที่ประดิษฐานองค์พระธาตุ อยู่บนภูกำพร้า หรือดอยกำพร้า ภาษาบาลีว่า กปณบรรพตหรือ กปณคีรี ริมฝั่งแม่น้ำขลนที อันเป็นเขตแขวงนครศรีโคตบูรโบราณ
ตามตำนานพระธาตุพนม ในอุรังคนิทานกล่าวว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางทิศตะวันออก โดยทางอากาศ ได้มาลงที่ดอนกอนเนา แล้วเสด็จไปหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) ได้พยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา จากนั้นได้เสด็จไปตามลำดับ ได้ทรงประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่ โพนฉัน (พระบาทโพนฉัน) อยู่ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย แล้วเสด็จมาที่ พระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน ได้ทรงพยากรณ์ที่ตั้งเมืองมรุกขนคร (นครพนม) และได้ประทับพักแรมที่ภูกำพร้าหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นเสด็จข้ามแม่น้ำโขง ไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตบูร พักอยู่ที่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงฮังเมืองสุวรรณเขต) แล้วกลับมาทำภัตกิจ (ฉันอาหาร) ที่ภูกำพร้าโดยทางอากาศพญาอินทร์ได้เสด็จมาเฝ้าและทูลถามพระพุทธองค์ ถึงเหตุที่มาประทับที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสปะ ผู้เป็นสาวก ก็จะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้เช่นกัน จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ทรงปรารภถึงเมืองศรีโคตบูร และมรุกขนคร แล้วเสด็จไปหนองหารหลวง ได้ทรงเทศนาโปรดพญาสุวรรณพิงคาระ และพระเทวี ประทานรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วเสด็จกลับพระเชตวัน หลังจากนั้นก็เสด็จปรินิพพานที่เมืองกุสินารา  เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ถวายพระเพลิงพระสรีระ แต่ไม่สำเร็จ จนเมื่อพระมหากัสสปะมาถึงได้อธิษฐานว่า พระธาตุองค์ใดที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่ภูกำพร้า ขอพระธาตุองค์นั้นเสด็จมาอยู่บนฝ่ามือ ดังนี้แล้ว พระอุรังคธาตุ ก็เสด็จมาอยู่บนฝ่ามือขวาของพระมหากัสสปะ ขณะนั้นไฟธาตุก็ลุกขึ้นโชติช่วง เผาพระสรีระได้เองเป็นอัศจรรย์  เมื่อถวายพระเพลิงและแจกพระบรมสารีริกธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ มาทางอากาศ แล้วมาลงที่ดอยแท่น (ภูเพ็กในปัจจุบัน) จากนั้นได้ไปบิณฑบาตที่เมืองหนองหารหลวง เพื่อบอกกล่าวแก่พญาสุวรรณพิงคาระ  ตำนานตอนนี้ตรงกับตำนานพระธาตุเชิงชุม และพระธาตุนารายณ์เจงเวง ซึ่งมีรายละเอียดอยู่แล้ว เมื่อพญาทั้ง 5 ซึ่งอยู่ ณ เมืองต่าง ๆ อันได้แก่ พญานันทเสน แห่งเมืองศรีโคตบูร พญาจุลณีพรหมทัต พญาอินทปัตถนคร พญาคำแดง แห่งเมืองหนองหารน้อย และพญาสุวรรณพิงคาระ แห่งเมืองหนองหารหลวง ได้พากันปั้นดินดิบก่อแล้วเผาไฟ ตามคำแนะนำของพระมหากัสสปะ แบบพิมพ์ดินกว้างยาวเท่ากับฝ่ามือพระมหากัสสปะ
ครั้นปั้นดินเสร็จแล้วก็พากันขุดหลุมกว้าง 2 วา ลึก 2 ศอก เท่ากันทั้ง 4 ด้าน เมื่อก่อดินขึ้นเป็นรูปเตา 4 เหลี่ยม สูง 1 วา โดยพญาทั้ง 4 แล้ว พญาสุวรรณภิงคาระก็ได้ก่อส่วนบน โดยรวมยอดเข้าเป็นรูปฝาปารมีสูง 1 วา รวมความสูงทั้งสิ้น 2 วา แล้วทำประตูเตาไฟทั้ง 4 ด้าน เอาไม้จวง จันทน์ กฤษณา กระลำพัก คันธรส ชมพู นิโครธ และไม้รัง มาเป็นพื้น ทำการเผาอยู่ 3 วัน 3 คืน เมื่อสุกแล้วจึงเอาหินหมากคอยกลางโคก มาถมหลุม เมื่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าวเสร็จแล้ว พญาทั้ง 5 ก็ได้บริจาคของมีค่าบรรจุไว้ในอุโมงค์เป็นพุทธบูชา จากนั้น พระมหากัสสปะ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ เข้าบรรจุภายในที่อันสมควร แล้วให้ปิดประตูอุโมงค์ไว้ทั้ง 4 ด้าน โดยสร้างประตูด้วยไม้ประดู่ ใส่ดาลปิดไว้ทั้ง 4 ด้าน แล้วให้คนไปนำเอาเสาศิลาจากเมืองกุสินารา 1 ต้น มาฝังไว้ที่มุมเหนือตะวันออก แปลงรูปอัศมุขี (ยักษิณีหน้าเป็นม้า) ไว้โคนต้นเพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมืองในชมพูทวีป นำเอาเสาศิลาจากเมืองพาราณสี 1 ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้โคนต้น เพื่อหมายมงคลแก่โลก นำเอาเสาศิลาจากเมืองตักศิลา 1 ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันตก พญาสุวรรณพิงคาระให้สร้างรูปม้าอาชาไนยไว้ตัวหนึ่ง หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อแสดงว่าพระบรมธาตุเสด็จออกมาทางทิศทางนั้น และพระพุทธศาสนาจักเจริญรุ่งเรืองจากเหนือเจือมาใต้ พระมหากัสสปะให้สร้างม้าพลาหกไว้ตัวหนึ่ง คู่กัน หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นปริศนาว่า พญาศรีโคตบูรจักได้สถาปนาพระอุรังคธาตุไว้ตราบเท่า 5,000 พระวัสสา  เกิดทางใต้และขึ้นไปทางเหนือ เสาอินทขีล ศิลาทั้ง 4 ต้น ยังปรากฏอยู่ 2 ต้น ทางทิศตะวันออก ส่วนอีก 2 ต้น ได้ก่อหอระฆังหุ้มไว้ ส่วนม้าศิลาทั้ง 2 ตัว ก็ยังปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน
พระธาตุพนมได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาตามลำดับ การบูรณะครั้งแรกและครั้งที่สอง ไม่ได้บันทึกปีที่บูรณะไว้  การบูรณะครั้งที่สามเมื่อปี พ.ศ. 2157  ครั้งที่สี่เมื่อปี พ.ศ. 2233  ครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2349  ครั้งที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2444 เป็นการบูรณะครั้งใหญ่ และต่อจากนั้นมาก็มีการบูรณะทั่วไป เช่น บริเวณโดยรอบพระธาตุ
ได้มีพิธียกฉัตรทองคำขึ้นประดิษฐานไว้ที่ยอดองค์พระธาตุ และนำฉัตรเก่ามาเก็บไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2497 มีพุทธศาสนิกชนจากดินแดนสองริมฝั่งโขงทั้ง ไทยและลาว หลั่งไหลมาร่วมมงคลสันนิบาต และนมัสการองค์พระธาตุเป็นเวลาถึงหนึ่งเดือน  เมื่อปี พ.ศ. 2518 องค์พระธาตุพนมชำรุดล้มลง ทางราชการได้ดำเนินการก่อสร้างขึ้นใหม่ ให้คงสภาพเดิม ภายในปีเดียวกัน และได้ยืนยงคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
งานนมัสการพระธาตุพนมประจำปี เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 12 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3
คำนมัสการพระธาตุพนมมีดังนี้
"กปณคิริสฺมิ ปพฺพเต มหากสฺสเปน ฐาปิตํ พุทฺธอุรงฺคธาตุ สิรสา นมามิ"
แปลว่า "ข้าพเจ้าขอนมัสการ พระบรมอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปเถระเจ้า นำมาฐาปนาไว้ ณ ภูกำพร้า ด้วยเศียรเกล้า"

อ้างอิง
http://www.heritage.thaigov.net/religion/pratat/index06.htm